นโยบายการบริหารงาน

แผนพัฒนา 3 ปี ต.ดงลาน อ.เมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2557-2559
“แผนพัฒนาสามปี” หมายถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา อันมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดของแผนงานโครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้นสำหรับปีงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้าครอบคลุมระยะเวลาสามปี โดยมีการควบคุมและปรับปรุงเป็นประจำทุกปี
แผนพัฒนาสามปี เป็นการแปลงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีหลักคิดที่ว่า ภายใต้หลักการพัฒนาหนึ่งๆจะมีแนวทางการพัฒนาได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง และภายใต้แนวทางการพัฒนาหนึ่ง จะมีโครงการ/กิจกรรม ได้มากกว่า หนึ่งโครงการ/กิกรรม ที่จะต้องนำมาดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละยุทธศาสตร์ การพัฒนา ซึ่งจะมีผลต่อวัตถุประสงค์เป้าหมายจุดมุ่งหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิสัยทัศน์ในที่สุด
“แผนพัฒนาสามปี” เป็นแผนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงบประมาณ รายจ่ายประจำปี กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้การวางแผนพัฒนาเป็นเครื่องมือ ในการจัดทำงบประมาณ รายจ่ายประจำปีไปจัดทำงบประมาณ เพื่อใช้กระบวนการจัดทำงบประมาณเป็นไปด้วยความรอบคอบ และผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
โครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาสามปี โดยเฉพาะในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะเวลาสามปีนั้น ควรมีสภาพพร้อมอย่างน้อย 2 ประการ
1. มีความแน่นอนของกิจกรรมที่จะดำเนินการ โดยมีการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ/กิจกรรมรวมทั้งผลประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับจากโครงการ/กิจกรรม
2. กิจกรรมที่อยู่ในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะ เวลาสามปี ควรมีความพร้อมในเรื่องรูปแบบและรายละเอียดทางเทคนิคพอสมควร เพื่อให้สามารถกำหนดรายการในแผนพัฒนาที่จะนำไปใช้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ต่อไป
แผนพัฒนาสามปีมีลักษณะกว้างๆ ดังต่อไปนี้
1. เป็นเอกสารที่แสดงความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
2. เป็นเอกสารที่แสดงแนวทางการพัฒนาและวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนและมีลักษณะ เฉพาะเจาะจงที่ดำเนินการ
3. เป็นเอกสารที่แสดงโครงการ/กิจกรรม การพัฒนาที่จะดำเนินการเป็นระยะเวลาสามปี
4. เป็นเอกสารที่จะแสดงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากับงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ประโยชน์ของแผนพัฒนาสามปี
การจัดทำแผนพัฒนาสามปี เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้พิจารณาอย่างรอบคอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงและส่งผลทั้งในทางสนับสนุน และเป็นอุปสรรคต่อกัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาตัดสินใจ กำหนดแนวทางการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรการบริหารของท้องถิ่น อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างสูงสุด