เดือนเจ็ด-บุญซำฮะ
ประเพณีบุญเดือนเจ็ดหรือบุญซำฮะเป็นงานบุญที่ชาวลาวและชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีจุดประสงค์เพื่อ ปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดถึงเหล่าภูติผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน คำว่า ซำฮะ ก็คือ ชำระ ที่หมายที่การ ล้างให้สะอาดบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีที่มีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาและไสยศาสตร์รวมอยู่ด้วยกันนอกจากจะทำพิธิขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและชาวบ้านตามตำนานที่กล่าวขานกันมาในสมัยพุทธกาล ในคัมภีร์ธรรมบทว่าครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิด “ทุพภิกขภัย” ข้าวยากหมากแพงประชาชนขาดแคลนอาหารเพราะฝนแล้งสัตว์เลี้ยงต่างๆ ล้มตายเพราะความหิว ซ้ำร้ายอหิวาตกโรคหรือ “โรคห่า” ก็ระบาดทําให้ผู้คนล้มตายกันมากมาย ชาวเมือง
กลุ่มหนึ่งจึงพากันเดินทางไปนิมนต์ พระพุทธเจ้าให้มาปัดเป่าภัยพิบัติครั้งนี้ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองไพสาลีก็เกิดฝน “ห่าแก้ว” ตกลงมาอย่างหนักจนท่วมแผ่นดินสูงถึงหัวเข่าและน้ำฝนก็ได้พัดพาเอาซากศพของผู้คนและสัตว์ต่างๆ ไหลลงแม่น้ำไปจนหมดสิ้น พระพุทธเจ้าทรงทําน้ำพระพุทธมนต์ใส่บาตร แล้วมอบให้พระอานนท์นําไปประพรมทั่วเมือง โรคภัยไข้เจ็บก็สูญสิ้นไปด้วย เดชะพระพุทธานุภาพ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้าน คนลาวโบราณรวมทั้งไทยอีสานจึงได้จัดประเพณีบุญซําฮะขึ้นในเดือน 7 ของทุกๆ ปี
ในการจัดงานบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน ชาวบ้านจะช่วยกันทำปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน มารวมที่ศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารมาทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระถวายจังหัน เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและรดน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านที่มาในงานชาวบ้าน ร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรมและร่วมกันเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองและขับไล่ภัยสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ออกจากหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะทำบริเวณพิธีด้วยการนำต้นกล้วยมาสี่ต้นทำเป็นเสา ผูกยึดด้วยสายสิญจ์ และจะมีการโยงสายสิญจ์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แล้วนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ นอกจากนี้จะมีการนำหินเข้าพิธีเมื่อปลุกเสกแล้วพระหรือพราหมณ์ก็จะนำหินที่ปลุกเสกไปหว่านทั่วหมู่บ้าน เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ในปัจจุบันบางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะนำหินใส่ถุงเขียนชื่อเมื่อเสร็จพิธีก็จะมารับกลับไปหว่านที่บ้านของตนเองบ้างก็นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของตนไปสูตร หรือ ปลุกเสก ทุกคนจะเอาขันน้ำมนต์ ด้ายผูกแขน ขันกรวดทารายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเอง แล้วนำน้ำมนต์ไปปะพรมให้แก่ทุกคนให้ครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือน วัว ควาย เอาด้ายผูกแขนลูกหลานทุกคน เชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน ส่วนกรวดทรายก็จะนำเอาไปหว่านรอบๆ บริเวณบ้านและที่สวนไร่นาเพื่อขับไล่เสนียด จัญไร และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
บุญซำฮะนิยมทำกันในเดือน ๗ จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมการชำฮะ(ชำระ) สะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้สะอาดปราศจากมลทิลหรือความมัวหมองต่างๆ เรียกว่า การ
ซำฮะสิ่งที่ต้องการทำให้สะอาดนั้นมี 2 อย่างคือ ความสกปรกภายนอก คือ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน คือ การชำระล้างจิตใจเกิดความความโลภโกรธหลง เป็นต้น แต่สิ่งที่จะต้องชำระในที่นี้คือ บุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรที่จะทำให้เกิดศัตรู ผู้ร้ายหรือโจรมาปล้นเกิดรบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ผู้คนช้างม้าวัวควายล้มตายถือกันว่าบ้านเดือดเมืองร้อนชะตาบ้านชะตาเมืองขาด จำต้องซำฮะให้หายเสนียดจัญไร การทำบุญมีการรักษาศีลให้ทานเป็นต้นเกี่ยวกับการซำฮะนี้เรียกว่า บุญซำฮะ
มีกำหนดทำให้ระหว่างเดือนเจ็ด จึงเรียกว่าบุญเดือนเจ็ด ”เดือนเจ็ดทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ
บุญซำฮะเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ให้เกิดความสามัคคีของคนในหมู่บ้านซึ่งจะร่วมกันทำความสะอาดบริเวณบ้านของตนและสถานที่สาธารณะของหมู่บ้าน และศาลหลักบ้านหรือผีบ้านผีเรือน บางพื้นที่จะเรียกว่าศาลปู่ตาหรือดอนปู่ตา ที่คอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน เพื่อให้คุ้มครองชาวบ้านทุกคนทั้งหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุข ปราศจากอันตรายใดๆ นอกจากบุญซำฮะแล้วยัง บุญเลี้ยงหลักบ้าน จะมีบุญเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งจะเลี้ยงหลังจากการเลี้ยงหลักบ้าน ซึ่งจะทำพร้อมๆกันกับบุญซำฮะในเดือนเจ็ด ในปัจจุบันบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน
ยังมีอยู่แทบทุกพื้นที่ทางภาคอีสาน แต่ละพื้นที่มีการจัดทำบุญซำฮะที่อาจจะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปบ้างแต่ยังคงอยู่ในพื้นฐานความเชื่อที่สืบทอดกันมาคือ เป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกหรือสิ่งที่ชั่วร้ายออกจากร่างกายและจิตใจ ยึดถือในขนบธรรมนียมสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภาพ : Fascinating Roi Et
ที่มา : Fascinating Roi Et